ฟรานซ์ ลิซท์ ๑

เคาว์นเทสพอลีน พลาเตอร์ สตรีสูงศักดิ์ชาวโปแลนด์แต่มีนิวาสถานอยู่ในกรุงปารีส เคยกล่าวกับเฟรเดริค โชแปง (1810 –1849) ไว้ว่า

“ถ้าชั้นยังสาวและสวยเริดเหมือนแต่ก่อนนะ พ่อหนุ่มโชแปง ฉันคงเก็บเธอไว้เป็นสามี คบหาฮิลเลอร์ (เฟอร์ดินานด์ ฮิลเลอร์ 1811 – 1885 คีตกวีและวาทยกรชาวเยอรมัน) เป็นเพื่อนซี้ ส่วนลิซท์ ชั้นจะเก็บไว้เป็นชู้”

นี้คืออมตะนิยามสำหรับฟรานซ์ ลิซท์ บุรุษที่ก่อไฟแห่งปรารถนาไว้ในศตวรรษที่ 19 มิใช่แค่ตำนานพิศวาสเพียงสถานเดียว แต่ผลงานประพันธ์เพลงและฝีไม้ลายมือบรรเลงเปียโนและบทความดนตรีตลอดอายุขัย ตั้งแต่ ค.ศ. 1811 ถึง 1886 ได้เป็นบุคคลแรกที่บัณฑิตสภาตะวันตกลงมติเพิ่มคำว่า “ลิซโทมาเนีย” แปลว่า อาการคลั่งไคล้ลิซท์ไว้ในสารานุกรม นับเวลาได้ร่วมร้อยปีก่อนคำว่า “บีตเติ้ลมาเนีย” เสียอีก

ฟรานซ์ ลิซท์นับเป็นบุรุษอาชาไนยสมัยเรอเนซอง (ยุคฟื้นฟูศิลปะ) อย่างแท้จริง ด้วยชื่อเสียงอุโฆษด้านความเป็นเลิศในเชิงดนตรีการ ด้านอุดมคติเฉียบคม และด้านความรัก ทั้งฉันท์ชีวิตสมรส และชู้สาว แต่บั้นปลายชีวิต เธอเลือกสวมเสื้อคลุมเช่นนักบวชถือเพศพรหมจรรย์ในอารามสงฆ์โดมินิกันที่เมือง มงเต มาริโอ จนวาระสุดท้าย

ครั้งสาธุคุณฮิวจ์ เรจินัลด์ ฮาไวส์ นิกายแองกลิคันและเป็นนักเขียนบทความดนตรีได้พบลิซท์ในค.ศ. 1880 ได้ยินลิซท์เอ่ยว่า “เบโธเฟนเคยจุมพิตอวยพรให้ผม” เรื่องนี้ท่านสาธุคูณเคยอ่านเจอว่า แองตอน ชิลเลอร์ เลขานุการของเบโธเฟนเคยเขียนถึงเบโธเฟนเมื่อปี 1823 ขอให้ไปงานแสดงคอนเสิร์ตของลิซท์เพื่อเป็นกำลังใจให้เด็ก ตามตำนานเล่าว่า เบโธเฟนได้ขึ้นไปบนเวทีหลังการบรรเลงท่ามกลางเสียงปรบมือกึกก้องกับฝีมือเด็กอายุ 12 คนนี้ สวมกอดอย่างรักใคร่และหอมแก้มทั้งสองข้าง

ตำนานนี้มาจากปากของลิซท์เอง แท้ที่จริงเบโธเฟนไม่ได้ไปงานนั้นหรอก อย่าว่าแต่ไปสวมกอดต่อหน้าผู้ชมในที่สาธารณะนี้เลย แต่ลิซท์เคยไปเยี่ยมคำนับที่บ้านเบโธเฟน ซึ่งลิซท์เล่าให้ลูกศิษย์ฟังภายหลังว่า “ครูเบโธเฟนอ้าแขนต้อนรับฉัน จูบหน้าผากและบอกว่า “จงไปดีศรีสุขเถิด เธอเป็นบุรุษมหาลาภ และจะยังความชื่นชมยินดีแก่คนทั้งปวง ไม่มีอะไรประเสริฐเลิศไปกว่านี้แล้ว”


ตั้งแต่ยังหนุ่ม ลิซท์ได้มีโอกาสแสดงการบรรเลงเพลงเปียโนสี่มือ คือเล่นพร้อมกันสองคน เปียโนสองหลังกับพิกซิส (โยฮัน ปีเตอร์ นักเปียโน ครูแต่งเพลง และนักแต่งเพลงชาวเยอรมัน)  ซึ่งอาวุโสกว่ายี่สิบกว่าปี และเป็นเพลงใหม่เขียนด้วยลายมือ ยังไม่ได้รับการคัดลอกหรือตีพิมพ์มาก่อน พิกซิสได้ยินกิตติศัพท์ของลิซท์ดี ว่าชอบเล่นจากความจำล้วนๆ เธอเกรงจะพลาดหลงลืม ก็ขอลิซท์อย่างน้อยให้กางโน้ตเพลงบนเปียโนด้วย เพราะเธอเองยังไม่กล้าเล่นจากความจำอย่างเดียว แม้จะเป็นเพลงแต่งมากับมือก็เถิด

ครั้นถึงเวลาแสดง ทั้งคู่เดินขึ้นเวที หนีบโน้ตเพลงคนละปึก พอถึงเปียโนพิกซิสค่อยบรรจงเรียงกระดาษโน้ตบนแป้นเหนือเปียโน ฝ่ายลิซท์เข้าที่นั่งเปียโน แต่ก่อนจะเริ่มเล่น ลิซท์กลับโยนโน้ตทั้งปึกไปบนหลังเปียโน แล้วเริ่มเล่นทันทีจากความจำล้วนๆ พิกซิสจำต้องบรรเลงร่วมไปด้วยทั้งๆที่หายใจไม่ทั่วท้อง แต่ไม่วายเข็ดเขี้ยวกับความอหังการของคู่เล่นวัยหนุ่มคนนี้

เมื่อครั้งงานแสดงคอนเสิร์ตเพลง ‘March of The Scaffold’ จากซิมโฟนีฟานทาสทิคของเฮคเตอร์ แบร์ลิออส (1803 -1869 ชาวฝรั่งเศส) เฮคเตอร์ลงมืออำนวยเพลงเองด้วย หลังจบเพลง ลิซท์ของเราเข้าที่หลังเปียโนทันที แล้วบรรเลงด้วยบทเรียบเรียงสดๆจากที่เล่นทั้งวงมาใช้เปียโนตัวเดียวสำหรับบทเพลงท่อนนี้ พาเอาผู้ชมรวมทั้งแบร์ลิออสนั่งตะลึงงัน และการบรรเลงเปียโนเดี่ยวนี้ กลับจุดประกายชีวิตและวิญญาณให้กับเพลง ยังผลประทับใจยิ่งใหญ่กว่าที่พึ่งบรรเลงโดยดุริยางค์ทั้งวงเมื่อสักครู่นั้นเสียอีก

ด้วยบทบาทนักเขียนด้านดนตรีวิจารณ์ ลิซท์เป็นบุคคลแรกที่แนะนำให้วงการดนตรีของฝรั่งเศสรู้จักผลงานของชูมานน์ (โรเบิร์ต 1810 – 1856 ชาวเยอรมัน) โดยนำบทเพลงของชูมานน์มาแสดงและเขียนลงตีพิมพ์ในวารสารอย่างกระตือรือร้นและต่อเนื่อง นอกจากนั้นยังเขียนบทความอีกยาวเหยียดชื่นชมนางคลาร่า ชูมานน์ ภรรยาของโรเบิร์ต ในวารสารดนตรีชั้นนำของปารีสอีกด้วย ภายหลังลิซท์ได้ถามคลาร่าว่าอ่านแล้วมีอะไรขาดตกบกพร่องหรือไม่ นางคลาร่าตอบว่าไม่มีที่ติ พร้อมข้อสังเกตว่า “แต่ทำไมถึงเขียนว่า เวลาฉันฝึกซ้อมจะต้องเอาแมวดำมาวางบนเปียโนข้างละตัวด้วยเล่า? เธอก็รู้ว่ามันไม่จริงสักหน่อย” ลิซท์ตอบหน้าตายว่า “คุณนายเจ้าขา ถ้าไม่มีอะไรพิสดารพันลึกอย่างนั้นละก็ คนฝรั่งเศสเขาไม่ใส่ใจอ่านหรอกจ้ะ”

ชารลส์ เคนซิงตัน สาละมาน (1814–1901) นักเปียโนชาวอังกฤษเล่าว่า เมื่อครั้งลิซท์เดินทางไปลอนดอนในปี 1840 เธอก็พาเอาคนอังกฤษถึงบางฉงายด้วยแถลงการณ์ว่าจะจัดงานอ่านบทเปียโน recital เพราะเคยได้ยินกันแต่งานแสดงดนตรี ใครเล่าจะไปอ่านบทเปียโนได้ ผู้คนพากันมักถามไปทั่ว “อีตาลิซท์แกว่าไงนะ?”

ในงานอ่านบทเปียโนนี้ หลังการบรรเลงเปียโนไปบทหนึ่งที่ระบุในรายการแล้ว เธอจะเดินจากเวที เดินเลาะไปตามแถวเก้าอี้กลุ่มนั้นกลุ่มนี้ ซึ่งจัดเป็นหมู่ให้เดินเหินได้สะดวก แล้วสนทนาทักทายกับคนรู้จักคนนั้นบ้าง คนนี้บ้าง จนคิดว่าหมดเรื่องคุยแล้ว จึงจะกลับขึ้นเวทีไปบรรเลงเปียโนต่อสักเพลงสองเพลง แล้วก็ลงมาคุยต่อ อันเป็นความหมายเดียวกับงานแสดงอ่านบทกวี ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้แสดงและผู้ฟังได้ออกความคิดอ่านเดี๋ยวนั้น เพื่อเพิ่มอรรถรสและบรรยากาศของการเสพศิลป์และศิลปะวิจารณ์ไปพร้อมๆกัน

ระหว่างงานแสดงคืนหนึ่งที่วังเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ซึ่งลิซท์มีผู้นิยมชมชอบเสมอ ปรากฏว่าพระเจ้าซาร์นิโคลัส ซึ่งไม่โปรดกับเรื่องดนตรีนัก ได้ผินพระพักตร์ไปทรงสำราญรับสั่งกับคุณหญิงข้างๆ มิใยที่ลิซท์กำลังบรรเลงอยู่ และพระสุรเสียงยิ่งทีก็ยิ่งดัง ทันใดลิซท์หยุดเล่นกลางคัน ลุกขึ้นเดินจากเปียโนไปเสียเฉยๆ พระเจ้าซาร์ทรงฉงนพระทัยและขยับลุกพระราชดำเนินตามไปมีพระราชปุจฉาว่าทำไมจึงหยุดเล่นเสียเล่า

ลิซท์สนองพระราชดำรัสว่า “กระหม่อมเห็นว่า เมื่อองค์จักรพรรดิทรงมีพระราชดำรัส ทุกคนควรจะสงัดฟังพระเจ้าค่ะ” ดังความหมายว่าพระองค์นั้นเป็นเพียงกษัตริย์เท่านั้น มิได้ทรงพระบรมเดชานุภาพเสมอองค์จักรพรรดิเช่นบทเพลงของลิซท์

กษัตริย์หลุยส์ฟิลิปแห่งฝรั่งเศสเคยดำรัสถามลิซท์ว่า “จำได้ไหม ครั้งเธอยังเด็กเข้ามาเล่นเปียโนในวัง ตั้งแต่ฉันยังเป็นแค่ดยุ๊คแห่งออร์ลีนส์? อะไรๆก็เปลี่ยนไปมากเชียวนะ” ลิซท์ทูลสนองอย่างเฉยเมยว่า “เป็นเช่นรับสั่งแล้ว แต่ไม่มีอะไรดีขึ้นเลยพระเจ้าค่ะ”


ในงานแสดงดนตรีครั้งหนึ่ง ถึงคราวที่เคานเทสบรรเลงเปียโนเดี่ยว สิ้นเสียงผู้ชมปรบมือต้อนรับอย่างชื่นชมแล้ว นางเริ่มเล่นอย่างมั่นใจ ไม่มีโน้ตดนตรีกางตรงหน้าสักแผ่น และเล่นไปได้จนถึงหน้าหก พลันจังหวะมือนางช้าลง ดนตรีเริ่มกระท่อนกระแท่นด้วยความลังเลและหวั่นไหว แล้วนางก็หยุด ผู้ชมปรบมือให้กำลังใจอบอุ่น นางเริ่มใหม่ตั้งแต่ต้น แต่เมื่อบรรเลงมาถึงที่เดิม ความจำของนางก็ปลาตดังเดิม นางตกประหวั่นหน้าซีด ลุกจากเก้าอี้หน้าเปียโน ท่านคุรุลิซท์กระทืบเท้าสนั่นห้องแสดง ตะโกนจากที่นั่งสั่งมาว่า “หยุดอยู่ตรงนั้นแหละ!” นางทรุดตัวระโหย ผู้คนเงียบกริบ นางพยายามเล่นเที่ยวที่สาม อนิจจา ความจำในท่อนเพลงเลือนหายเช่นเดิม ด้วยความเพียรยิ่งยวด นางพยายามปะติดปะต่อบรรเลงท่อนหลัง และแล้ว ในที่สุด ก็ถึงโน้ตสุดท้าย ท่านคุรุปรี่ขึ้นไปดุว่าประจานอย่างลุแก่โทสะ นางได้แต่ยึดแขนท่านไว้ ร่ำไห้สะท้านไปทั้งตัวอย่างที่ไม่เคยมีใครหวั่นไหวเช่นนี้มาก่อนเลย

เคาน์เทสกลับบ้าน ค้นยานอนหลับมากินเกินขนาด หมดสติไปสี่สิบแปดชั่วโมงจนชาวเมืองคิดว่าถึงแก่ชีวิต แต่แล้ว นางก็ฟื้น เขียนหนังสือถึงท่านคุรุและได้รับคำตอบขับไล่ไสส่งให้นางลี้ไปเสียจากกรุงบูดาเบสต์ในบัดนั้น รุ่งขึ้นนางผลุนผลันไปที่พักของท่านคุรุแต่เช้า มือกำปืนพกไปตลอดทาง เมื่อปะหน้ากัน นางยกปืนเล็งไปที่หน้าลิซท์ “ยิงสิ!” ท่านคุรุก้าวไปประชิดปลายกระบอกปืน บัดนั้น นางก็สิ้นแรง มืออ่อนเท้าอ่อนปล่อยปืนตกพื้น ร่างทั้งร่างทรุดลงสะอื้นปิ้มจะขาดใจ กอดเท้าท่านคุรุอยู่แทบธรณีประตูนั้นเอง

กิตติศัพท์ความมากน้ำใจของลิซท์ระบือเต็มหูวงการยิ่งนัก ถึงลือกันว่าฟรานซ์ แชร์แวส์ นักเปียโนหนุ่มอีกคนก็เป็นบุตรนอกสมรสของท่าน จนลิซท์ต้องออกปากกับเพื่อนสนิทอีกคนที่อดถามไม่ได้ไปว่า “สหายเอ๋ย ฉันรู้จักคบหากับมารดาแชร์แวส์นั่น แต่ทางจดหมายเท่านั้นดอก แล้วการสมสู่ทางเอกสารโต้ตอบจนปฏิสนธินี้ มันอยู่ในเกณฑ์ของธรรมชาติได้ฤาไฉน?”

ยังมีนักเปียโนสาวนางหนึ่ง ลงประกาศประชาสัมพันธ์การแสดงดนตรีของเธอที่กรุงเบอร์ลิน ลงท้ายวุฒิของเธอว่าเป็นศิษย์ของลิซท์ เพื่อผลการขายบัตรเข้าชม เมื่อกำหนดการแสดงรุดเข้ามาในวันพรุ่ง เธอก็แทบสิ้นสติสมประดี เมื่ออ่านพบในหนังสือพิมพ์ฉบับเช้า ว่าสาธุคุณลิซท์เพิ่งถึงกรุงเบอร์ลิน หลังจากกระสับกระส่ายใกล้เสียประสาท เธอตัดสินใจรวบรวมความกล้า รุดไปหาท่านสาธุคุณถึงโรงแรมที่พัก วิงวอนขอเข้าพบ เมื่อได้รับอนุญาต เธอเข้าไปทรุดตัวคำนับด้วยน้ำตานองหน้า ระล่ำระลักสารภาพขอโทษานุโทษ สาธุคุณต้อนรับเธอด้วยสีหน้าสงบเสงี่ยมเปี่ยมเมตตา ถามเธอว่าจะเล่นเพลงอะไรบ้างเล่า เมื่อได้ฟังรายชื่อเพลงแล้ว ท่านให้เธอตรงไปที่เปียโนของโรงแรม เลือกชื่อเพลงหนึ่ง แล้วให้เธอบรรเลงให้ฟัง ขณะฟังท่านก็ให้คำแนะนำตรงช่วงนั้นบ้างช่วงนี้บ้าง จนเธอบรรเลงจบ ท่านก็เอื้อมมาแตะแก้ม และกล่าวกับเธอว่า “เอาละ! เธอไปแสดงได้แล้ว จงถือว่า เธอเป็นลูกศิษย์ของลิซท์อีกคนหนึ่งเต็มภาคภูมิแล้ว”

แต่ลิซท์ใช่จะปรานีอ่อนโยนเช่นนี้เสมอก็หาไม่ ท่านรังเกียจนักเมื่อมีคนคอยจะทึกทักให้ท่านเล่นเปียโน ครั้งบารอนเนสนางหนึ่งร่อนหนังสือเชิญท่านมางานเลี้ยงน้ำชาโดยอ้างความสนิทชิดเชื้อที่ลิซท์รู้จักกับบิดาของเธอ เมื่อลิซท์ตอบรับคำเชิญ เธอก็ถือโอกาสป่าวประกาศเชิญเพื่อนพ้องมาเต็มงาน ด้วยนึกว่าลิซท์จะมาเล่นเปียโนให้ด้วย และจัดเปียโนตั้งกลางโถงงานให้เห็นเต็มตา แขกทุกคนตื่นเร้าเมื่อลิซท์มาถึงงาน ระริกด้วยใคร่ยินฝีมือศิลปินใหญ่

จากประสบการณ์ชุ่มโชก ลิซท์ได้กลิ่นและสำเนียงตั้งแต่ปากประตูโถง หลังคำแนะนำให้รู้จักแขกมากหน้าเกินจะจำไหวแล้ว ลิซท์เงยหน้ายิ้มพิมพ์เสน่ห์เต็มประกายตากับบารอนเนส เอ่ยถามว่า “อ้อ! เปียโนของท่านตั้งไว้ที่ใดหรือ?” ทั้งๆที่ใครก็แลเห็นแค่เอื้อม

“แหม! ท่านสาธุคุณ! จริงๆหรือคะท่าน?” ปราดไปที่เปียโนเปิดฝาไว้เรียบร้อย “เป็นความกรุณาเกินดิฉันจะคาดหวังเรียนขอท่านเชียวค่ะ” ผายมือเหนือเครื่องดนตรีชิ้นงามสูงราคาอย่างอิ่มเอม “อยู่หลังท่านนี่ไงค่ะ”

“ตายจริง! ที่แท้เปียโนอยู่ตรงนี้นี่เอง” ลิซท์เป็นผู้มีอารมณ์ขันอำมหิตน้อยเสียเมื่อไร “กำลังหาที่วางหมวกอยู่พอดี”

บารอนเนสผู้แกร่งกล้า ผงะเล็กน้อยอุทานว่า “แต่ท่านสาธุคุณเจ้าขา ท่านคงไม่ปฏิเสธนะคะ ถ้าจะขอให้ท่านแค่ไล่เพียงบันไดเสียงเดียว เท่านั้นนะคะ?”

“คุณนายครับ บ่ายๆอย่างนี้ ฉันไม่ฝึกไล่บันไดเสียงหรอกจ้ะ” ว่าแล้ว ลิซท์ก็หันไปทักทายกับคุณนายเฮลบิก ทิ้งให้บารอนเนสหน้าเจื่อนถอดสีอย่างไม่ใยดี


(ยังมีต่อ)

 


สารบัญจานหยก

จานหยก บทความโดย ดนัย ฮันตระกูล