Songchef | เขตต์อรัญ เลิศพิพัฒน์ | คิดคำ ทำเพลง | บทวิจารณ์ | คุยกับเขตต์อรัญ | คิดถึงเขตต์อรัญ |
ส่วนหนึ่งจากบทสัมภาษณ์ คอลัมน์ PERSPECTIVE นิตยสาร IMAGE ฉบับเดือนมีนาคม
2545 เขตต์อรัญ เลิศพิพัฒน์ "ชีวิต... คิดแต่เรื่องเพลง" |
เทปสนทนากับเขตต์อรัญในสายวันหนึ่งของเดือนมกราคมที่บ้านพักของเขาย่านสุขุมวิท ซึ่งเต็มไปด้วยแผ่นเสียงและวิดีโอกองพะเนินเทินทึก เขาหยิมสมุดจดโน้ตเพลงเก่าคร่ำคร่าแต่ยังอยู่ในสภาพดีเยี่ยม เปิดให้เห็นเพลงแรกที่เขาเขียนเมื่อครั้งยังเรียนหนังสืออยู่ที่เซนต์คาเบรียล มุมบนขวาของกระดาษเขียนชัดเจนว่า 1966 ชื่อเพลงคือ Today
"ผมเริ่มแต่งเพลงตั้งแต่อายุ 12 ตอนเรียนอยู่ที่เซนต์คาเบรียล เพราะว่าช่วงนั้นเป็นช่วงที่ได้เรียนวรรณคดีไทยมากมาย แล้วก็ถึงค้นพบว่าตัวเองชอบอะไรที่เกี่ยวกับโคลงกลอนมาก มาก พออายุสัก 16 ตอนนั้นเริ่มเล่นกีตาร์บ้างแล้วในกลุ่มวัยรุ่น ผมก็เล่นกีตาร์ได้ แล้วก็เริ่มแต่งเพลงตั้งแต่ตอนนั้น เริ่มจากแต่งเพลงฝรั่ง (ยิ้ม) เขียนเป็นภาษาอังกฤษก่อน มันแต่งง่ายกว่า เพราะโรงเรียนเซนต์คาเบรียลนี่เขาจะเข้มข้นมากเรื่องภาษาอังกฤษ
"เรียกว่าพอจบออกมานี่ก็ยุ่งกับดนตรีมาตลอด ความจริงตอนอยู่ธรรมศาสตร์ก็เล่นดนตรี มาเรื่อยๆอยู่แล้ว จริงๆแล้วผมไม่เคยทำงานอย่างอื่นเลยนอกจากดนตรี หรือไม่ก็เป็นครูสอนดนตรี ตอนจบออกมานี่ ก็เริ่มไปสอนกีตาร์คลาสสิกอยู่โรงเรียนสยามกลการอยู่พักใหญ่ 4 ปี 5 ปี ช่วงที่สอนคือช่วงก่อนที่เพื่อนรักคนหนึ่งคือ คุณดนูจะกลับมาจากเมืองนอก พอคุณดนูกลับมาปุ๊บก็เลยลาออกจากสยามกลการ แล้วมาเปิดโรงเรียนดนตรีศศิลิยะ ผมรับหน้าที่อาจารย์ใหญ่ ตรงนี้ก็เลยเต็มตัวมากเลย เพราะว่าข้างๆโรงเรียนดนตรีศศิลิยะ จะมีบริษัท บัตเตอร์ฟลาย ของพวกเราอีกเหมือนกัน ซึ่งเป็นบริษัทที่แต่งเพลงอยู่แล้ว ตกลงตรงสองตึกที่อยู่ด้วยกันนี่ไม่ได้ทำอะไรอย่างอื่นเลย นอกจากแต่งเพลง"
แต่ดูเหมือนช่วงที่คนรู้จักชื่อเขตต์อรัญจริงๆ ก็ตอนที่มีอัลบั้ม'เรามาร้องเพลงกัน'
"นั่นคือช่วงที่โรงเรียนศศิลิยะเปิดสอนพอดี งานชุดนั้นเป็นกิจกรรมพิเศษของโรงเรียน คือนอกจากเราจะสอนนักเรียนแล้ว ก็ทำโปรเจ็คท์ตรงนี้ขึ้นมา เพราะว่าตอนนั้นครูทุกคน ไม่ว่าจะเป็นคุณดนู เอง หรือว่าคุณสุรสีห์ (อิทธิกุล) คุณอนุวัฒน์ (สืบสุวรรณ) คุณกฤษณ์ (โชคทิพย์พัฒนา) แล้วก็คุณอรรณพ (จันสุตะ) ทุกคนอยู่ในโรงเรียนนี้ทั้งหมดเลย ความสามารถที่นอกเหนือจากการสอนก็คือการแต่งเพลง เราเลยคุยกันว่า เราทำโปรเจ็คท์พิเศษให้โรงเรียนก็แล้วกัน คือออกมาเป็นงานชุดนี้'เรามาร้องเพลงกัน'
ตอนที่ทำอัลบั้มนี้ คุณตั้งใจอยู่แล้วว่าจะเขียนเพลงให้แฝงปรัชญา
"ใช่ครับ เพราะตอนนั้นยังไม่มีค่ายเพลงใหญ่โตอะไรเหมือนในสมัยนี้ เพราะฉะนั้นเวลาเราทำเพลงออกไป เราก็ไม่เคยคิดในแง่ของการตลาดว่า เพลงอะไรแบบไหนคนถึงจะชอบ และเราแต่งเพลงออกไปในนามโรงเรียนดนตรีด้วย ก็คงต้องเป็นอะไรที่เข้มข้นมาก คือเราไม่ได้คิดถึงผลของการตลาดเลยครับ คงต้องพูดอย่างนั้น"
"เนื้อเพลงที่ดี ไม่ใช่แค่อ่านดี แต่ต้องฟังดูดี" |
หลังจากเริ่มต้นมากับการเขียนเพลงแบบนั้น ทำให้'ติดภาพ'ไหมว่าจะต้องเขียนเพลงแนวนี้ตลอด
"ไม่ติด เพราะจริงๆแล้ว ในขณะที่มีโรงเรียนดนตรีศศิลิยะอยู่ บริษัทบัตเตอร์ฟลาย ข้างๆนี่เขาก็ทำเพลงโฆษณา คือทุกคนพอมีเวลาว่างก็มาแต่งเพลงโฆษณากัน ซึ่งแปลว่าเพลงอะไรก็ทำได้ หรือว่าบางที คุณอนุวัฒน์ จะสอนเด็ก แกก็เขียนโน้ตขึ้นมาง่ายๆสองสามตัวเพื่อให้เด็กหัดร้อง ปรากฏว่าเด็กจำไม่ค่อยได้ ก็มาปรึกษาว่าทำไงดี ผมเอาโน้ตมาดูก็ลองเขียนคำลงไปให้ คล้ายๆ มันเริ่มต้นจากตรงนี้มาก่อนว่าเขียนคำร้องอะไรก็ได้ แล้วแต่ว่าโจทย์คืออะไรก็แล้วกัน แต่ถ้าให้เลือกให้แต่งเพลงเองโดยที่ไม่ต้องมีเงื่อนไข ก็คงต้องแต่งออกมาในแนวอย่างที่ว่า เพราะว่าชอบ"
คุณเลือกที่จะแต่งเพลงให้นักร้องคนไหนด้วยหรือเปล่า เพราะเท่าที่สังเกต คุณจะเขียนเพลงให้สุรสีห์ เป็นประจำ
"ตัวพี่อ้อง (สุรสีห์) เป็นคนเลือกมากกว่า เพราะสมมุติว่าเขาจะไปให้คนอื่นเขียน ความเข้าใจในตัวเขามันจะไม่ง่ายนัก แต่ถ้าเกิดเป็นคนที่รู้ใจกันอยู่ และใกล้กันมากในความคิด ก็จะเขียนได้ง่าย โดยที่เขาไม่ต้องบอกว่าตรงนี้เด็กไปนะ"
แล้วพอมาอยู่แกรมมี่ เวลาแต่งเพลงให้นักร้องคนอื่นๆ อย่างเบิร์ด แหวน นูโว คริสติน่า ไมโคร ถือว่าเป็นการแต่งเพลงตามโจทย์
"อันนี้มันมีโจทย์ชัดของมันอยู่แล้วว่า โอเค. แหวนหรือนูโว ต้องเป็นประมาณนี้ พอผมได้ยินทำนองที่ส่งมาให้ ก็พอจะนึกออกว่าประมาณนี้ หลังจากที่คุยกับศิลปินแล้ว ซึ่งเหมือนการทำการบ้านอย่างหนึ่งด้วย พอผมได้คุยกับเขา ก็จะรู้ว่าศิลปินคนนี้คิดเรื่องอะไร แค่ไหน อยากจะให้เนื้อเพลงเป็นอย่างไร พูดง่ายๆว่า เอาใจเขามาใส่ใจเรา แล้วเราก็แต่งออกไป ซึ่งมันจะแตกต่างกันตรงภาษาที่ใช้เท่านั้นเอง เป็นพวกร็อคนี่ภาษาก็ต้องห่ามหน่อย ถ้าเกิดเป็นวงที่เด็กๆมากๆ ก็ต้องเป็นอีกภาษาหนึ่ง คือต้องเขียนให้ได้หมดทุกอย่าง แต่ดีกรีของความดีไม่ดีนี่อาจจะไม่เท่ากัน แต่นักแต่งเพลงควรจะแต่งให้ได้ทุกสไตล์ ทุกอาร์ติสท์ ไม่เลือกว่าต้องเป็นแบบไหน"
"นักแต่งเพลงที่ประสบความสำเร็จ เขาจะเปลี่ยนแปลงไปเองตามยุค โดยที่ไม่บังคับตัวเองว่าต้องเปลี่ยน จะเป็นคนที่อยู่กับยุคสมัยได้ตลอดเวลา" |
เพลงแบบไหนที่คุณคิดว่าเขียนยาก
"เพลงที่เขียนแล้วให้ฮิท (ยิ้ม) เพราะต้องการความเป็นสามัญมาก เวลาเขียนอะไรที่มีเนื้อหาที่ยาก เขียนอะไรที่คนไม่รู้เรื่องนี่ง่ายจะตาย เราอาจจะไปเปิดหนังสือขึ้นมาเล่มหนึ่งเจออะไรแปลกๆ เราก็หยิบตรงนั้นมาเขียน แต่เขียนเรื่องธรรมดาแล้วให้คนชอบและรับได้นี่ เป็นเรื่องยากมาก สิ่งที่สามัญที่สุดเขียนยากที่สุด เพราะจะต้องเขียนออกมาในแนวคิด หรือในมุมมองที่ไม่เคยมีใครเขียนมาก่อน ซึ่งเขียนเรื่องที่มีอยู่แล้วในแง่มุมใหม่นี่ยากมาก"
อย่างเพลงรัก คุณว่าเขียนง่ายหรือยาก
"เขียนง่ายแต่เขียนให้ฮิทยาก เวลาเขียนให้ฮิท ต้องเขียนให้เนกาทีฟ ติดลบ ถ้าเขียนความรักสมหวังไม่มีทางฮิท ต้องเจ็บสุดๆ"
แล้วอะไรยากกว่ากัน ระหว่างเพลงที่พูดถึงเรื่องความรักกับเพลงที่พูดถึงเรื่องอื่นๆ โดยทั่วไป
"มันจะมีความยากง่ายของมันอยู่ในตัวอยู่แล้ว แล้วแต่ว่าผมมองประเด็นได้ชัดหรือไม่ ถ้าเผื่อผมมองชัดว่านี่เพลงรักนะ ผมก็เขียนไปอย่างนั้นเลย หรือเพลง 'รุ้งกินน้ำ' ซึ่งไม่เกี่ยวกับความรักเลย คือชัดเจนไปเลย ตีให้แตก จริงๆแล้ว ความยากของเพลงอยู่ที่ตอนได้ยินทำนอง ฟังแล้วรู้เรื่องมั้ยว่ามันเกี่ยวกับอะไร อันนี้คือยาก บางทีอาจจะต้องเดินไปเดินมา หรืออยู่ในรถ หรืออยู่ที่ไหนก็แล้วแต่ เพื่อคิดถึงทำนองอันนี้ซึ่งอยู่ในหัวแล้ว ว่ามันควรจะเกี่ยวกับอะไร ตรงนี้อาจจะใช้เวลาเป็นอาทิตย์ แต่พอคิดออกแล้ว การเขียนลงไปในกระดาษ ใช้เวลาไม่กี่นาทีหลังจากนั้น"
หลังจากได้ฟังทำนองแล้ว คุณจะเป็นคนคิดคอนเซ็ปท์ของเพลงเอง หรือมีใครมาบรี๊ฟ
"แล้วแต่ว่าโปรดิวเซอร์คนนั้นคือใคร ส่วนมากที่ทำกับ แกรมมี่ โปรดิวเซอร์ไม่ได้บรี๊ฟ มีทำนองเพลงแล้วก็ส่งมาให้เลย แต่ถ้าโปรดิวเซอร์คนนั้นคืออัสนี บางทีเขาจะบรี๊ฟ เพราะคุณอัสนี เป็นคนทำงานละเอียดมาก แล้วเขาก็รู้ว่าตัวเองต้องการอะไร แต่ในแกรมมี่เวลาออกเทปมานี่ จะออกมาทีละหลายๆชุด เพราะฉะนั้น โปรดิวเซอร์ไม่มีเวลาพอที่จะมาคิดให้ เป็นเรื่องของนักแต่งเนื้อเพลงซึ่งต้องคิดคอนเซ็ปท์เพลงเอง"
"เพลงที่เขียนยาก คือเพลงที่เขียนแล้วฮิต
เพราะต้องการความเป็นสามัญมาก เขียนเรื่องธรรมดาแล้วให้คนชอบและรับได้ เป็นเรื่องยากมาก สิ่งสามัญที่สุด เขียนยากที่สุด เพราะต้องเขียนเรื่องที่มีอยู่แล้วในแง่มุมใหม่" |
เพลงที่คุณเขียนเนื้อร้อง โดยมากทำนองจะมาก่อน
"ถ้าในระบบของแกรมมี่เป็นอย่างนี้ครับ แต่ถ้าทำงานกับคนอื่นอย่างคุณดนู บางทีเนื้อก็ต้องมาก่อนเหมือนกัน ตรงนี้เป็นเรื่องที่ถือว่ามันยากง่ายพอๆกัน เพราะสมมติว่ามีคนเดินมาหาผมแล้วบอกว่า ช่วยแต่งเพลงให้เพลงสิ ผมก็ไม่รู้ว่าจะแต่งอะไรเหมือนกัน แต่ถ้าเผื่อเขาบอกว่าเขามีทำนองมาให้ ผมจะแต่งได้ เหมือน คุณดนูบอกให้แต่งเพลงสักเพลงหนึ่ง แต่งอะไรล่ะ ไม่รู้ แต่สมมติว่าเราเขียนเนื้อไว้สักสี่บรรทัดนะ อย่างนี้เขาจะแต่งทำนองต่อได้ แบบนี้ถือเป็นเรื่องพึ่งพาซึ่งกันและกัน"
มีเพลงไหนบ้างที่คุณเขียนโดยไม่มีโจทย์อะไรเลย แต่เขียนเพราะอยากเขียน
"ส่วนใหญ่ที่ไม่ได้แต่งในแกรมมี่ จะเป็นอย่างนั้นหมด ยกตัวอย่างคุณสุรสีห์ บอกว่าจะออกชุดนี้แล้ว ช่วยหน่อย ก็มี อย่างในชุด 'กัลปาวสาน' มีเพลงที่ชื่อ 'เวลา' อันนั้นก็...นั่งๆอยู่แล้วก็คิดว่ามันเหลืออีกเพลงหนึ่งนะ มีเพลงเท่านั้นแล้ว อีกอันเป็นเพลงช้า ก็เลยเขียนออกมาว่า 'เวลา' คือคิดออกมาเปล่าๆอย่างนี้ก็มี เพลงที่อยู่นอกบริษัท แกรมมี่ เป็นอย่างนี้แยะที่ผมเขียนออกมาเลย พอเขียนแล้วปึ๊บก็ส่งไปให้คนเขียนทำนองดู คือพอเขาเห็นเนื้อ เขาก็จะได้ยินทำนองไงครับ และพอผมได้ฟังทำนองของเขานี่ ผมก็จะเห็นเนื้อที่เหลือ ว่าคืออะไร
"จริงๆแล้วการแต่งเพลงที่ดี ที่ละเอียด น่าจะทำอย่างนี้ คือดูกันไปเรื่อยๆ พอเขาได้ยินเนื้อบรรทัดแรก เขาเขียนทำนอง เราก็ใส่เนื้อบรรทัดต่อไป แล้วถ้าไม่ดีก็แก้อีก ปรับอีก ผมว่าการได้ทำงานด้วยกันไป น่าจะเป็นการแต่งเพลงที่ดีกว่า"
แสดงว่าคนเขียนทำนองหรือคนเรียบเรียงดนตรี มีส่วนไม่น้อยที่จะทำให้เพลงนั้นน่าฟังหรือไม่
"มีมากเลย ยกตัวอย่างว่าเขาส่งเพลงๆหนึ่งมาให้ มีแต่ทำนองอย่างเดียวเลย นอกนั้นไม่มีอะไรเลย ฟังให้ตายมันก็ฟังเพราะยาก ถ้าเผื่อว่ามันมีเสียงเบสส์เสียงคอร์ดมาให้นี่ มันจะได้ยินอารมณ์จากสิ่งเหล่านี้ คอร์ดและเบสส์อะไรเหล่านี้คือตัวที่สร้างอารมณ์นะครับ ทำให้รู้ว่ามันฟังเพราะยังไง มันเกิดภาพอะไรขึ้นในเพลงนั้น ถ้าเป็นทำนองอย่างเดียวแต่งยาก"
"เพลงที่มีเหตุผลนำมากๆ จะแข็ง ไม่โรแมนติก ไม่น่าฟัง" |
แล้วมีบ้างไหม เพลงที่คุณเขียนเองหมดทั้งเนื้อร้องและทำนอง
"มี อันนี้เป็นข้อที่...ผมต้องบอกว่ามันเป็นมาอย่างนั้น เวลาเข้าไปในแกรมมี่ ภาพของผมที่เข้าไปคือคนเขียนเนื้อเพลง จริงๆแล้ว ผมก็เป็นคนที่แต่งทำนองเพลงเหมือนกับเพื่อนคนอื่นๆ ใน แกรมมี่เหมือน ก็จะมีอย่าง พี่จ๊อด (กฤษณ์ โชคทิพย์พัฒนา) ที่เราอยู่ในสถาบันนี้มาด้วยกัน เขาจะรู้ว่าผมเป็นคนเขียนทำนองได้ด้วย อย่างเพลงที่จ๊อดให้เขียนคือ 'หยุดมันเอาไว้' 'คือฝน' เพลง "เครื่องจักรน้อยๆ" ของอำพล อันนี้มาจากพี่จ๊อดทั้งสิ้น เพราะว่าคนอื่นเขาไม่ทราบว่าผมเขียนทำนองได้ แล้วก็มีบางเพลงของเจ อันนั้นมาจากคุณอนุวัฒน์ (สืบสุวรรณ)เพราะเราอยู่ด้วยกันมาที่ศศิลิยะ เขารู้ว่าผมทำงานตรงนี้ได้"
เคยลองนึกบ้างไหมว่ามีเพลงแนวไหนที่คุณยังไม่เคยเขียน
เขาถอนหายใจยาว "ตรงนี้ตอบยากครับ เพราะไม่ทราบว่ามีเพลงแบบอื่นอะไรอีกหรือเปล่าที่นอกเหนือจากที่เขียนอยู่นี่"
ตามความคิดของคุณ นักแต่งเพลงที่ดีน่าจะมีพื้นฐานทางดนตรีด้วยหรือเปล่า
"ต้องมีหูที่ได้ยินคอร์ด รู้ว่าอารมณ์นี้เศร้าหรือสนุก ถ้าเผื่อเล่นดนตรีเป็นก็ยิ่งเป็นประโยชน์มากขึ้น ยืนยัน แต่อันนี้ไม่ได้หมายความว่าคนที่เล่นดนตรีไม่เป็นจะไม่สามารถเป็นนักแต่งเพลง เป็นได้ "
หากมีคนคนหนึ่งเดินเข้ามาหาคุณ ขอคำแนะนำเรื่องการแต่งคำร้อง จะบอกเขาอย่างไร
"หนึ่ง ให้รู้จักว่าเขียนโคลงกลอน เวลาสัมผัส เขาสัมผัสตัวไหนกับตัวไหน แล้วก็ให้ฟังให้ออกว่าสูง-ต่ำของโน้ตเวลาเอาคำใส่เข้าไปแล้วมันเข้าหรือไม่เข้า และถ้าเล่นดนตรีเป็นด้วยยิ่งดีใหญ่ ประมาณนี้ แต่เล่นดนตรีไม่ได้ก็ไม่เป็นไร ฟังเพลงรู้เรื่องก็ใช้ได้แล้ว คือร้องเพลงเป็น สามารถที่จะเอ่ยปากร้องเป็นทำนองออกมาได้ตรงกับที่ได้ยินจากในวิทยุก็ใช้ได้แล้ว แปลว่าหูไม่เพี้ยน เขียนคำลงไปก็น่าจะเขียนได้ อย่างน้อยให้ฟังออกว่าตรงนี้ใช่มั้ย อย่างบางคน เพลง "สบาย สบาย" ที่ยกตัวอย่างให้ฟังเมื่อกี้ ถ้าให้ร้องว่า "แปลกใจ แปลกใจ" เกิดเขาฟังแล้วบอกไม่เห็นแปลก ก็เข้าทำนองได้นี่ อย่างนี้แปลว่ายังมีหูที่ยังปรับไม่ได้ "
"นักแต่งเพลงควรจะแต่งให้ได้ทุกสไตล์ ทุกอาร์ติสท์ ไม่เลือกว่าต้องเป็นแบบไหน" |
จำเป็นไหมที่นักแต่งเพลงต้องมีคำในคลังสมองเยอะ
"ไม่จำเป็น เพียงแต่ว่าสิ่งหนึ่งที่สำคัญมากเลยคือ เราจะต้องเป็นตัวของเราเองให้ได้ เวลาเราเขียนเพลงโดยที่เราพยายามนึกคำอื่นๆในเพลงอื่น แล้วเอามาใช้ วิธีนี้รับรองว่าจะไม่เวิร์ค ให้เขียนให้เป็นตัวเอง มีทางเดียว ถ้าอยากจะเป็นนักแต่งเพลงที่ประสบความสำเร็จ ให้เขียนออกมาอย่างที่ตัวเองเป็น อย่าเขียนอย่างที่คิดได้ แต่ให้เขียนอย่างที่อยากเขียน ไม่ค่อยเหมือนกันนะ สรุปว่าพอเราคิดได้ปุ๊บ ว่าคำนี้สัมผัสกับคำโน้น ก็เขียนเลย จะกลายเป็นว่ากลอนพาไป มันไม่ได้อารมณ์ ให้เขียนอย่างที่อยากเขียน คือ อย่าออกนอกเรื่อง เวลาเขียนไปให้คิดไปด้วยว่าเป็นเรื่องนี้แล้ว ต่อไปควรจะเป็นอะไร คิดไปเรื่อย สร้างบรรยากาศไปเรื่อยๆ ให้มันอยู่ในนี้ อย่าให้ออก แต่ว่าให้ซินเซียร์กับมัน อย่าไปลอกเพลงอื่นมา
"อีกอย่างหนึ่งคือต้องเป็นคนที่ฟังเพลงแยะ เพราะว่าการลงน้ำหนักในภาษาไทยแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับการลงน้ำหนักในเพลง แตกต่างอย่างสิ้นเชิง ยืนยันได้ แต่ถ้าคำคำนั้นไม่มีคำพ้องก็ลงได้ ไม่เป็นไร ยกตัวอย่างเราร้องว่า "ในน้ำมีปลา ใน้นามีข้าว" ไอ้คำว่า 'ใน้'มันแปลว่าในอยู่แล้ว เพราะคำว่าใน้ไม่มีความหมายอื่น ตรงนี้ไม่แปลก ตรงนี้เราถือว่าสำนักใครสำนักมัน แต่ถ้าเป็นสำนัก แกรมมี่ ตรงนี้ใช้ไม่ได้ เพราะ แกรมมี่ ถือกฎว่าให้ลงวรรณยุกต์จะเหมาะกว่า แต่เวลาที่ผมเขียนเพลงให้คุณดนู หรือเขียนเพลงข้างนอกที่เป็นส่วนตัว ถ้าไม่มีคำพ้องคือ 'ม้า'ไม่เป็น 'หมา' ผมก็จะใช้ เพราะถือว่าสีสันมันจะดีมาก"
"ยกตัวอย่างเพลงชุด 'ฮาเลลูยาห์' ที่แต่งกับคุณดนู มันจะเพี้ยนหมดทั้งเพลงเลย แต่ได้อารมณ์ของความเป็นคริสต์ ซึ่งตรงนี้ต้องเขียนได้เหมือนกัน แล้วแต่โจทย์คืออะไร"
สิ่งรอบตัวที่พบเห็น คุณหยิบมาเขียนเป็นเพลงได้หมดเลยไหม
"นักแต่งเพลงทุกคนในโลกเขาจะคิดอย่างนี้หมด คือจะไม่มีใครที่จะนึกขึ้นมาเอง เขาจะใช้วิธีเดินไป เห็นอย่างนั้นแล้วก็เอามาเขียน เหมือนกับ จอห์น เลนนอน เขาเดินไปหน้าร้านที่ขายของเล่น เขียนว่า "Cry baby cry make your mother buy" เขาก็เอามาเขียนเพลง Cry Baby Cry หรือว่า คุณพอล แม็คคาร์ทนี่ย์ เขาไปเดินอยู่ถนนเพนนี เขาก็แต่ง Penny Lane จริงๆแล้วมันต้องใช้ตรงนี้มากเลย มากในการเห็นอะไรแล้วสะดุด สะดุดแล้วเขียน ต้องเป็นคนสายตาดี (หัวเราะ)
"นานๆถึงจะมีเพลงที่คิดขึ้นมาเอง อย่างเพลง 'ดนตรีคีตา' เพลงนี้ไม่ได้เห็นมาจากไหน นั่งคิดเอง เขียนขึ้นมาเอง เป็นคอนเซ็ปท์ว่าดนตรีมีอยู่แล้วในโลก แต่อย่างว่าละครับ เพลงอะไรที่คิดเองคนอื่นก็จะฟังไม่รู้เรื่อง (หัวเราะ) เพราะมันมาจากของเรา เป็นเรื่องส่วนตัว ซึ่งเราเอาไปให้คนอื่นฟัง เพราะฉะนั้นการที่เราจะมีผู้ฟังร่วม ชัดเจนอยู่แล้วว่าน้อย นอกจากว่าผมเป็นใครสักคนหนึ่ง แล้วคนอื่นเขาอยากจะรู้ว่าผมคิดอะไร แบบนี้ถึงเหมาะจะทำตรงนั้น แต่ถ้ายังเป็นตัวเล็กอย่างที่เราเป็นอยู่นี้ อย่าทำบ่อยนัก (หัวเราะ) ไม่ดี เดี๋ยวคนเขาจะเบื่อเอา"
"นักแต่งเพลงที่ดี ต้องมีหูที่ได้ยินคอร์ด รู้ว่าอารมณ์นี้เศร้าหรือสนุก ถ้าเผื่อเล่นดนตรีเป็นก็ยิ่งเป็นประโยชน์มากขึ้น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคนที่เล่นดนตรีไม่เป็นจะไม่สามารถเป็นนักแต่งเพลง" |
เวลาเขียนเพลง จำเป็นต้องมีอารมณ์คล้อยตามเพลงด้วยหรือเปล่า
"ไม่ต้องครับ คือมันจะอยู่ในสมองโดยอัตโนมัติเช่นว่าคำที่เกี่ยวกับความเศร้าทั้งหมด มีคำไหนบ้างในโลกนี้ พอเราได้ยินทำนองอย่างนี้ เราก็ลองซินเซียร์ไปก่อนนะ เดี๋ยวคำพวกนี้มันจะออกมาเอง มันจะพลิกของมันอยู่ตรงนี้ แต่ว่าอย่าไปเค้นออกมา ถ้าเค้นนี่ไม่ดี ฟังแล้วคนอื่นจะรู้เลยว่า โอ้โห ประโยคนี้เด็ดเว้ย แต่ไม่เกิดอารมณ์ พอเค้นแล้วอ่านดี แต่ฟังไม่ดี เพลงนี่-ให้ฟังดี อ่านไม่ดีช่างมัน เอาอารมณ์ไว้ก่อน อันนี้สำคัญมาก เพราะเราจะได้เพลงที่อารมณ์จัดๆ ผมว่าตรงนี้คนที่มีส่วนร่วมในการพิจารณาเพลงก็สำคัญเหมือนกัน คือถ้าเขาเป็นคนประเภทใช้สมองซีกซ้ายมากๆ คือใช้เรื่องของเหตุผลหรือธุรกิจมาตัดสิน หรือตรวจเพลงจากการอ่าน และบอกว่าตรงนี้ไม่เมคเซ้นส์ ตรงนี้ไม่มีเหตุผล อย่างนั้นจะทำให้เพลงรักหรือเพลงอะไรก็ตามจะกลายเป็นเพลงที่มีเหตุผลทั้งสิ้น เพลงจะอยู่แค่ในระดับหนึ่ง ไม่มีอารมณ์ลึกๆ"
"ในขณะเดียวกัน ยกตัวอย่างว่าเราฟังเพลง 'สายชล' ของ คุณจันทนีย์ (อุนากูล) เพลงนี้อารมณ์ลึกสุดๆ ผมว่าเราควรเขียนเพลงให้มีลักษณะของเหตุผลที่เคลื่อนไปในอารมณ์ เพราะเพลงที่มีเหตุผลนำมากๆ มันจะแข็ง ไม่โรแมนติก ไม่น่าฟัง ซึ่งตรงนี้จะไม่ดี เพราะฉะนั้นถ้ามีองค์กรหรือหน่วยงานไหนที่มองตรงนี้ออก ผมว่าเราจะได้เพลงไทยที่ดีแบบสุดๆ คือผมเห็นมาแล้วทั้งสองแบบ อย่างบางทีผมเคยเขียนเพลงอารมณ์ลึกแต่ก็ไม่ผ่าน"
เพลงเพลงหนึ่งนอกจากอารมณ์ต้อง'ได้'แล้ว จำเป็นไหมที่จะต้องให้สาระด้วย
เขตต์อรัญตอบทันควัน "ไม่ต้องครับ เพลงที่ฟังแล้วก่อให้เกิดอารมณ์นี่ถือว่าสุดยอดแล้ว เพราะการที่เกิดอารมณ์ได้แปลว่าคนฟังมีความรู้สึกอย่างนั้นอยู่ในตัวด้วย แปลว่าสิ่งที่เราเขียนไปให้เขา เป็นความรู้สึกที่อยู่ในตัวเขาด้วย จะลึกหรือตื้นก็แล้วแต่ มันทำงานแล้ว แค่นั้นพอแล้ว ไม่ต้องรู้ชื่อเพลงก็ได้ พอฟังแล้ว เอ๊ย มันได้นี่ ซึ่งบางทีคนฟังไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามันได้ได้ไง แต่ฟังแล้วมันได้น่ะ นั่นคือจุดหมายสุดๆแล้วของการเขียนเพลงเพลงหนึ่ง"
แต่ถ้ามีสาระได้ก็ดี ถือเป็นผลพลอยได้
"ต้องเรียกว่าเพลงนั้นเป็นเพลงประดับบารมีของนักร้อง ซึ่งจะอยู่หน้าสองเพลงสุดท้ายเสมอ คล้ายว่าเป็นการสอนคนฟังเขาหน่อยนะ ให้แง่คิดหน่อย ซึ่งคงไม่มีมากนัก อย่างเพลง'ยิ่งสูงยิ่งหนาว' ของพี่เต๋อ ก็เป็นเพลงที่แสดงความลึกซึ้งของผู้ร้อง"
เพลงเพลงหนึ่งจะประสบความสำเร็จได้ นอกจากคำร้องและทำนองที่ดี คนร้องมีส่วนมากไหม
"เยอะมาก เพลงเพลงดียวกันให้คนสองคนร้อง ยังออกมาไม่เหมือนกันเลยครับ"
ในแง่ของการถ่ายทอดหรือน้ำเสียง
"ถูกทุกข้อ (หัวเราะ) ตอบโดยรวมคือความสามารถในการร้อง"
"ถ้าอยากจะเป็นนักแต่งเพลงที่ประสบความสำเร็จ ให้เขียนออกมาอย่างที่ตัวเองเป็น อย่าเขียนอย่างที่คิดได้ แต่ให้เขียนอย่างที่อยากเขียน" |
สมมติว่าธงไชย แมคอินไตย์ ไม่ได้เป็นคนร้องเพลง'บูมเมอแรง' คุณว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร
"คิดว่าคงไม่ฮิท เพราะทุกอย่างที่คิดมา คนทำงานเห็นภาพอย่างนี้ไว้หมดแล้ว เราถึงทำตรงนี้ได้ไง เพราะลักษณะเพลงมันเหมาะมาก ช่วงนั้นเป็นช่วงที่เราเริ่มมองแล้วว่าสเกลของ เบิร์ด กำลังดาวน์สวิง กำลังจะหมดเวลาของเบิร์ด ผมรู้สึกอย่างนั้น ยังจำได้ตอนเขียนเพลงนี้ นอนอยู่ในอพาร์ทเมนท์ และคิดอะไรบางอย่างไม่รู้ อะไรที่มันกลับมาใหม่น่ะ คือยังไงก็ต้องเอาเบิร์ดกลับมาให้ได้ คิดอยู่แค่นั้น พอได้ยินทำนองปุ๊บ ได้ยินคำว่าบูมเมอแรงก่อนเลย ได้ยินคำนี้ ก็เอ๊ะ น่าจะใช่นะ เลยเขียนออกมา เขียนออกมาตอนแรกนี่ไม่มีใครเอาเลย แต่ผมคิดว่าใช่ไง"
เรียกว่าตัวเพลงต้องถูกกับคนร้องด้วย
"ใช่ครับ เวลาเขียนต้องเห็นหน้าคนร้องด้วย แล้วก็ต้องเอาใจเขามาใส่ใจเราด้วย ถ้ามีอะไรที่เกินกว่าที่เขาคิด เวลาเขาร้อง เราจะรู้เลยมันไม่มีทางเข้า เคอะเขินมากเลย"
แต่บางเพลงที่ดีๆ ก็ได้นักร้องที่ความสามารถไม่ถึง หรือไม่เข้ากับเพลง อย่างดาราหลายคนที่มาร้องเพลง
"ตรงนี้มันเป็นภาพที่มาร์เก็ตติ้งเขาให้ คือคนคนนี้มีภาพตรงนี้อยู่ในวงการ เพราะฉะนั้นเขาก็จะได้ระดับนั้น แต่ถามว่าไปถึงระดับอัสนีมั้ย ไม่มีทาง จะได้ตรงที่เขาได้อยู่เท่านั้นเอง พูดง่ายๆว่าการแต่งเพลง แต่งไปเพื่อไปเซิร์ฟตรงนั้น-จุดที่เขายืนอยู่ เพราะฉะนั้นเพลงจะสำเร็จหรือไม่ ตอบอย่างนี้เลยว่า เพลงที่แต่งให้นักร้อง โปรดัคชั่นที่ออกไป พอดีกับตัวเขาหรือเปล่า ถ้าพอดีกันเขาจะรับได้ ถ้ายากเกินไปเขาจะรับไม่ได้ ถามว่ายังเกิดอยู่มั้ยในปัจจุบันนี้ ยังมีอยู่ เวลาผมทำงานอยู่ตรงนี้ จะเห็นชัด"
นอกจาก'บูมเมอแรง' มีเพลงอื่นอีกไหมที่ตอนเขียนก็รู้ว่าฮิทแน่
"ก็มีของ อำพล ชุดแรกสมัย'หมื่นฟาเรนไฮต์' ตอนนั้นก็เห็นเหมือนกัน เห็นนะว่าจะฮิทแค่ไหน อย่างเพลง 'พายุ' เขียนไปก็รู้ว่ามันจะไม่ฮิทตอนนั้น แต่จะเป็นเพลงที่อยู่นาน เป็นภาพพจน์ของนักร้อง"
แต่ไม่ใช่ภาพพจน์ของนักแต่งเพลง
"อันนั้นเป็นผลพลอยได้ทีหลังสำหรับพวกที่ขยันซื้อเทปแล้วก็เปิดปกดูว่าใครแต่ง (หัวเราะ)"
"เพลงนี่ให้ฟังดี อ่านไม่ดีช่างมัน เอาอารมณ์ไว้ก่อน ตรงนี้สำคัญมาก เพราะเราจะได้เพลงที่อารมณ์จัดๆ" |
คุณเคยเจอภาวะตีบตันเขียนเพลงไม่ออกบ้างไหม
"มีเหมือนกันที่ได้ทำนองมาแล้วค้างอยู่นาน แต่งยังไงก็แต่งไม่ออก คือจับอารมณ์เพลงไม่ได้เลย จะโทร.ไปถามคนเขียนทำนอง ก็เกรงใจเขา ไม่กล้าถาม เหลือเป็นเพลงสุดท้ายที่ยังไม่เสร็จ จนพี่เต๋อก็บอกว่า-เฮ้ย ยังไม่เสร็จอีกเหรอ เพราะทุกทีผมจะไม่เลท แต่วันนั้นมันไม่เสร็จ เลยบอกว่าแต่งไม่ออกว่ะ ก็เอามาฟังกัน พอฟังเมโลดี้จบปุ๊บ เลยบอกว่ายกทิ้ง ไม่เอา เลยวิเคราะห์กันว่าเพลงนี้มันไม่ก่อให้เกิดอารมณ์อะไรเลย มันมีเพลงที่เป็นอย่างนั้นอยู่จริง ที่ฟังแล้วไม่รู้จะเขียนอารมณ์อะไร อารมณ์ไหนก็ฟังไม่ออก จับไม่ได้เลย แต่ไม่ใช่เวลาเราเขียนไม่ได้ จะไปโทษว่าทำนองไม่ดีเสมอไปนะครับ"
แสดงว่าทำนองหนึ่งสามารถก่อให้เกิดอารมณ์หลายแบบ
"ทั้งนี้ทั้งนั้นจะขึ้นอยู่กับอารมณ์ตรงไหน ขึ้นอยู่กับการอาร์เรนจ์ คือการใส่เครื่องดนตรีเข้ามาทีหลังว่าจะใส่เครื่องดนตรีอะไร บางทีผมถึงขั้นที่ว่าอยากจะเข้าไปถามคนเรียบเรียงว่าตรงนี้จะใช้เครื่องดนตรีอะไร เพราะอารมณ์แบบนี้ถ้าใช้เครื่องดนตรีอีกอย่าง มันก็จะเป็นอีกอย่าง เป็นอย่างนั้นด้วย ตรงนี้มีการประสานเสียงหรือเปล่า หรือว่าร้องเดี่ยว บางทีมันเกิดภาพได้หลายแบบ ไม่เหมือนกัน แต่ไม่เคยไปถามเขานะ ก็ใช้วิธีแบบนี้ว่า เอาเนื้อเพลงของเราเป็นตัวกำหนดไปเลยว่าอาร์เรนจ์เมนท์ต้องออกมาเป็นแบบนี้ เวลาแต่งเพลงเราก็ควรจะคุยกับนักร้องคนนั้นว่าเขาลึกซึ้งขนาดไหน แต่ส่วนใหญ่ผมก็ชัดอยู่แล้วเวลาคุย"
ตอนนี้มีสะดุดใจนักแต่งเพลงคนไหนบ้างไหม
"จริงๆแล้วตอนนี้ไม่ค่อยรู้จักใคร ไม่รู้ว่ามีใครเป็นนักแต่งเพลงรุ่นใหม่ขึ้นมาบ้าง แต่ผมก็อยากจะเห็นนักแต่งเพลงรุ่นใหม่ๆ ขึ้นมาแยะๆเลย เพราะอยากจะเห็นไอเดียใหม่ๆ ชอบมาก ผมชอบคำที่มันเกิดขึ้นกับยุคนี้ เช่นคำว่า 'จำจารึก' อะไรอย่างนี้ ชอบมากเลย ซึ่งสมัยผมไม่มี และคิดไม่ออกด้วย การที่จะคิดออกต้องเป็นคนที่เกิดสมัยนี้ อยากจะเห็นอะไรอย่างนี้ออกมาเยอะๆ เพราะรู้ว่านักแต่งเพลงที่ออกมาใหม่ในยุคนี้ จะนำของใหม่ให้กับวงการอย่างไม่น่าเชื่อเลย และผมเฝ้าดู อยากจะเห็น อย่างเบเกอรี่ที่มีของเด็ดออกมาเยอะมาก ลองนึกถึงสมัยวง โมเดิร์น ด๊อก ที่ฮิทมากๆ เขามีของใหม่มาให้วงการแยะมาก ถ้าเผื่อเราใจกว้างเปิดรับได้นะครับ เราจะมีของดีในวงการอย่างไม่น่าเชื่อเลย ผมว่าถ้าเผื่อเรามีสมองทั้งซีกซ้ายและซีกขวาซึ่งทำงานด้วยกันอย่างดี มันจะได้ผลงานที่ดีมากเลย สำหรับเมืองไทย"
"เพลงที่ฟังแล้วก่อให้เกิดอารมณ์ ถือว่าสุดยอดแล้ว แปลว่าคนฟังมีความรู้สึกอย่างนั้นอยู่ในตัวด้วย แปลว่าสิ่งที่เราเขียนไปให้เขา เป็นความรู้สึกที่อยู่ในตัวเขาด้วย จะลึกหรือจะตื้นก็แล้วแต่ มันก็ทำงานแล้ว " |
ฟังเพลงรุ่นใหม่ๆเดี๋ยวนี้ รู้สึกอย่างไร
"ก็ดี ชอบ (ยิ้ม) แปลกดี คือเทียบกับของเดิมที่เราฟังเมื่อสมัยก่อนกับตอนนี้ วิวัฒนาการมันแยะมากเลยนะ ซึ่งหน้าที่ของเราคือต้องตามให้ทัน เพราะว่าการแต่งเพลงสมัยก่อนนี่นะครับ มันเหมือนกลอนแปด เดี๋ยวนี้มันเป็นกลอนอะไรก็ไม่รู้ ไม่เป็นกลอน เพราะฉะนั้นเราต้องตามให้ทัน เพื่อจะได้รู้ว่าเวลาแต่งเพลงสมัยนี้แล้ว การโยงสัมผัสมันโยงแบบสมัยโน้นไม่ได้ ต้องเข้าใจให้ได้ว่าดนตรีมันเป็นแบบนี้ ตัวนี้มากระทบตัวนี้ รับตรงนี้ การสัมผัสต้องโยงไป ต้องคิดแบบแผนขึ้นมาใหม่เลย ไม่งั้นเราแต่งไม่ได้ มันเปลี่ยนไปตามยุค เหมือนกับว่าสมัยก่อนนี่เขานุ่งกางเกงเป้าต่ำขาบานกัน เราก็ต้องนุ่งอย่างนั้น พอสมัยนี้เขานุ่งกางเกงขาแคบ เอวสูง เราก็ต้องทำตามนั้น คือเราต้องชอบให้ได้หมดทุกอย่าง แล้วต้องชอบจริงๆด้วยนะ ถ้าชอบไม่จริง จะไม่มีทางเขียนได้"
นักแต่งเพลงที่ดีต้องเปลี่ยนแปลงได้ตามยุคสมัย
"คนที่ประสบความสำเร็จ เขาจะเปลี่ยนแปลงไปเองตามยุค โดยที่ไม่บังคับตัวเองว่าต้องเปลี่ยน จะเป็นคนที่อยู่กับยุคสมัยได้ตลอดเวลา โดยที่ไม่มีคำว่า เอ๊ย โลกเดี๋ยวนื้มันเป็นอะไรไปวะ ทำไมมันถึงเป็นอย่างนี้ไปหมด คนที่เป็นอย่างนี้คือคนที่หลุดออกไปแล้วจากปัจจุบัน ซึ่งก็พร้อมแล้วที่จะรีไทร์ตัวเองจากปัจจุบัน จะถือว่าเป็นคนที่เราระลึกถึงว่าท่านผู้นี้เคยทำประโยชน์ให้กับวงการมาแล้ว เป็นอดีตไป"
เพลงแบบไหนที่คุณเรียกว่าประสบความสำเร็จ
"เพลงที่เป็นที่ยอมรับของจำนวนคนหรือปริมาณของคนมากขึ้น เช่นเพลงที่ 1 มีคนยอมรับ 10 คน ย่อมจะสู้เพลงที่ 2 ที่มีคนยอมรับ 1,000 คนไม่ได้ และเพลงที่ 2 ที่มีคนยอมรับ 1,000 คน ย่อมสู้เพลงที่ 3 ที่มีคนรับฟังทั่วประเทศไม่ได้ ตกลง ความสำเร็จนี่ควรจะต้องตัดสินได้ด้วยการถูกยอมรับ ถึงเรียกว่ามีความสำเร็จมาก ที่พูดนี่ไม่เกี่ยวกับอะไรที่เป็นตัวเงินนะ เพราะเวลาคนฟังเพลง เขาได้ยินทางวิทยุ เขาไม่ต้องไปซื้อเทปก็ได้ เวลาเขาชอบเพลงนั้น แปลว่าเพลงนั้นได้รับความสำเร็จแล้ว ผมว่าพอเราพูดถึงความสำเร็จ มันต้องมีการยอมรับด้วย"
"เวลาเขียนเพลงให้นักร้อง ต้องเอาใจเขามาใส่ใจเราด้วย เพลงๆนั้นจะประสบความสำเร็จหรือไม่ อยู่ที่เพลงที่แต่งให้นักร้อง โปรดักชั่นที่ออกไป พอดีกับตัวเขาหรือเปล่า" |
แต่เพลงที่ประสบความสำเร็จ ไม่น่าจะหมายความว่าต้องเป็นเพลงที่ดีเสมอไป
"มันก็แปลว่าดีด้วยครับ เพราะไม่งั้นคนคงจะไม่ชอบหรอก หมายความว่าคงจะไม่มีเพลงไหนที่คนชอบกันมากทั้งประเทศเลย แล้วมันไม่ดี อย่างนี้ แปลว่ามันต้องมีอะไรดีแน่ๆ เพราะว่าการที่คนส่วนมากชอบโดยมิได้นัดหมายกัน แปลว่าเนื้อหาสาระ ลีลาของทำนองเพลง มันต้องใจต้องหูของคนฟังเหลือเกิน นั่นคือความดีละ นั่นคือคุณภาพของเพลงอยู่แล้วล่ะ ที่ไม่ได้เกิดจากการบังคับกรอกหูให้ฟัง มันไปของมันเอง ความดีมันมีอยู่ชัด"
แล้วถ้ามองในแง่ของการเปิดกระหน่ำจนติดหูล่ะ
"มันจะติดอยู่สั้นๆ แล้วก็หมดไปเร็ว ไม่อยู่นานหรอก เพลงที่สำเร็จจะอยู่ของมันนานมากเลย ต่อให้เทปขายหมดไปแล้ว คนก็ยังอยากฟัง ยังชอบอยู่ นั่นคืออะไรที่มันสำเร็จจริงๆ ก็มีอยู่"
ช่วงเวลาไหนที่คุณเขียนเพลงได้ดีที่สุด
"เขียนได้ดีหมดทุกช่วงนะ (ยิ้ม) ผมเขียนได้เกือบตลอดเวลา แต่จะเป็นเพลงที่อยู่ของมันกลางๆ ไม่ได้ขึ้นไปปรู๊ดปร๊าด โอ้โห ดังระเบิดหรือว่าลงมาตกต่ำ จะอยู่ในระดับกลางๆหมด อยู่ระหว่างจาก 30 เปอร์เซ็นต์ จนถึงสัก 70 เปอร์เซ็นต์มั้ง อยู่ประมาณนี้ ไม่ไปสุด"
คุณอยู่ในวงการดนตรีมาร่วม 30 ปีแล้ว มองภาพธุรกิจดนตรียุคนี้อย่างไร
"คงถือได้ว่าดีขึ้นกว่าเมื่อ 20 หรือเมื่อ 30 ปีที่แล้ว เพราะสมัยก่อนคำว่านักดนตรีหรือนักแต่งเพลงนี่ ไม่ถือเป็นอาชีพๆหนึ่ง สมัยก่อนเวลาไปอัดเพลง เล่นกีตาร์ให้ใคร พออัดเสียงและรับสตางค์มา จะต้องมีใบให้เขียนด้วยว่ารับสตางค์มาแล้ว ไม่มีเขียนว่าอาชีพนักดนตรี เขาให้เขียนว่าอาชีพรับจ้าง นักแต่งเพลงสมัยก่อนแต่งเพลงให้ใคร ก็ได้เพลงละ 900 นี่คือเรื่องจริงที่เกิดขึ้น เป็นอาชีพที่ต่ำต้อยมากเลย (เน้นเสียง) และไม่เป็นที่ยอมรับ นี่แหละคือสิ่งที่เกิดขึ้นในบ้านเราเมื่อสมัยก่อน ยังจำได้เลยว่า พี่เต๋อพูดไว้ตั้งแต่สมัยตอนที่กำลังจะทำ แกรมมี่ ใหม่ๆ เขาบอกว่าคอยดู อีก 10 ปีจากนี้ไปนะ ทุกอย่างจะไม่เป็นอย่างที่เคยเป็น จะมีคนที่อยากเข้ามาเป็นนักร้อง เข้ามาเป็นนักดนตรีกันทั้งนั้น และทุกวันนี้ก็เห็นว่าเป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้นเราพูดได้ว่าภายใน 10-20 ปีนี้มีความเปลี่ยนแปลงอย่างมากมาย
"แต่ก็ยังมีคำครหามาจากคนในวงการเดียวกัน ซึ่งไม่น่าจะเกิดขึ้นเลย มาจากท่านเหล่านั้นหรือครูเพลงที่เรานับถือ ยอมรับในความเปลี่ยนแปลงอันนี้ไม่ได้ เห็นว่าเพลงที่ได้ยินทุกวันนี้เป็นเพลงที่ด้อยคุณภาพ จริงๆแล้วไม่ใช่ เพียงแต่ว่าสมัยก่อนตอนที่ยังเด็กๆ ก็จะมีเพลงสมัยนั้นอย่าง 'ทุ่งรวงทอง' 'ท่าฉลอม' ผมฟังปุ๊บก็รู้สึกว่านี่ไม่ใช่เพลงของผม เป็นเพลงที่เขาแต่งให้ผู้ใหญ่ร้องและให้ผู้ใหญ่ฟัง มันก็คือเหตุผลว่าทำไมวัยรุ่นยุคนั้นถึงฟังเพลงฝรั่งกันหมด เพลงสุนทราภรณ์ก็ไม่ใช่เพลงของวัยรุ่น เพราะฉะนั้นในเมื่อโตมาเป็นผู้ใหญ่ขนาดนี้ พอเป็นนักแต่งเพลง ผมก็แต่งเพลงให้วัยรุ่นฟังด้วย"
"ผมว่าเผื่อเรามีสมองทั้งซีกซ้ายและซีกขวาซึ่งทำงานด้วยกันอย่างดี มันจะได้ผลงานที่ดีมากเลยสำหรับเมืองไทย" |
ถึงวันนี้ค่าตอบแทนของนักแต่งเพลงเป็นอย่างไร ดีกว่าสมัยเพลงละเก้าร้อย-มากไหม
"ถึงตอนนี้ก็เป็นไปตามอัตราที่ แกรมมี่ตั้งไว้ ซึ่งดีกว่าสมัยก่อนมาก พูดอย่างนั้นก็แล้วกัน ว่าเดี๋ยวนี้ถือเป็นอาชีพได้แล้ว ซึ่งทำให้คนทำงานหรือนักแต่งเพลงอยู่ได้แล้ว ถ้าเป็นสมัยก่อน-ไม่มีทาง"
พอออกจากแกรมมี่แล้ว มีค่ายอื่นมาขอให้เขียนเพลงบ้างไหม
"มีเหมือนกันครับ ซึ่งตอนนี้ใครบอกให้เขียนก็เขียนได้ จากแกรมมี่ก็ยังมีอยู่"
นอกจากแต่งเพลงแล้ว คุณเขตต์อรัญทำงานอย่างอื่นอีกไหม
"นอกจากแต่งเพลงแล้วก็แต่งเพลง" เป็นคำตอบแกล้มยิ้ม "เวลาอยู่ว่างๆ ผมก็แต่งเพลงตลอด ซึ่งเพลงที่แต่งโดยไม่ต้องให้ใครเป็นอีกแบบหนึ่ง คือไม่ได้มีจุดมุ่งหมายว่าจะต้องแต่งให้คนนี้ ผมเป็นคนที่ชอบแต่งเพลงมาตั้งแต่เด็กแล้ว ไม่ว่าจะเป็นนักแต่งเพลงอาชีพหรือไม่-ก็จะแต่งเพลง"
เคยนึกเบื่อการเขียนเพลงขึ้นมาสักแว่บบ้างไหม
"ไม่เคยครับ เพราะผมเป็นคนที่เขียนเพลงเพราะใจรักจริงๆ ไม่เคยเขียนเพราะจำใจต้องเขียนเลย ชอบที่จะเขียนเพลงมากตั้งแต่เด็กเลยน่ะ เขียนมานานมากแล้วจนแบบ...ไม่น่าเชื่อ ผมคิดถึงเรื่องเพลงตลอดเวลา ไม่คิดถึงเรื่องอื่นเลย"
"เพลงที่ประสบความสำเร็จจะต้องตัดสินได้ด้วยการถูกยอมรับ ทั้งนี้ไม่ได้เกี่ยวกับอะไรที่เป็นตัวเงิน" |
ไม่คิดจะเปิดโรงเรียนสอนดนตรีอย่างศศิลิยะอีกหรือ
"พูดถึงเรื่องการสอน ผมก็สอนมามากแล้ว ทั้งที่สยามกลการ และศศิลิยะ มันก็เบื่อๆ อยู่ จริงๆ แล้วตอนนี้ก็มีคนโทร.มาบ่อย บอกให้เปิดสอนแต่งเพลง แต่บอกว่าเอาไว้ก่อน (ยิ้ม) เพราะว่าเป็นคนขี้เกียจสอน เบื่อ เปลี่ยนเป็นเขียนตำราแทนก็แล้วกัน ซึ่งคงจะมีคนมาเรียนอีก ก็ต้องดูไปก่อน"
แล้วเคยคิดอยากเป็นโปรดิวเซอร์ หรือผู้ดูแลค่ายเพลงบ้างไหม
เขตต์อรัญส่ายหน้าพลางถอนใจ "โปรดิวเซอร์เป็นงานเหนื่อย เคยทำแล้ว งานหนักมาก ตอนนี้ไม่อยากทำงานหนักนะ สมัยก่อนเคยทำมาแยะมาก ตั้งแต่ชุด 'เรามาร้องเพลงกัน' แล้วอีกอย่างหนึ่ง ผมเป็นน็อตตัวหนึ่งมาตั้งนานแล้ว และก็รู้สึกว่าแฮ้ปปี้ดี พอแล้ว มันเป็นอย่างนั้น ผมไม่มีความทะเยอทะยานตรงนั้นเลย แต่ว่าความอยากทำงานก็อยากทำงานมาตลอด อยากแต่งเพลง อยากอยู่ตรงนี้ตลอด แต่เข้าไปสู้รบตรงนั้น ไม่เอา"
เรียกว่าชีวิตทุกวันนี้ของเขตต์อรัญ เลิศพิพัฒน์ ก็ยังขลุกอยู่กับเพลง
"ผมก็อยู่ในบ้านนี่แหละ แต่งเพลง ฟังเพลง ฟังเพลงแยะมาก ฟังได้ทั้งวัน แล้วก็เขียนหนังสือ ได้เขียนเรื่องการแต่งเพลงแล้ว ก็อาจลองเขียนเรื่องอื่นๆ อีก ยังมีอีกอย่างที่ชอบคือดูหนัง ผมจะดูหนังแยะมาก ดูแล้วก็จะวิเคราะห์ไปเรื่อยว่าหนังเรื่องนี้มันสร้างมาทำไม คือเวลาดูหนังเรื่องหนึ่งนี่ เราจะเห็นพล็อทเลยว่ามันเขียนมาจากอย่างนี้ และขยายความออกมา ซึ่งมันเป็นเรื่องเดียวกันกับการเขียนเพลง วิธีการทำงานเหมือนกัน จะเริ่มจากจุดนิดเดียวและเอามาขยาย ปั้นน้ำให้เป็นตัว...ทุกอย่างที่เป็นอาร์ทเป็นอย่างนี้หมด พอเราได้ยินคำอะไรแปลกๆ คำเดียว ซึ่งไม่เคยได้ยินมาก่อน แว้บเดียว โอ้โฮ เห็นไปหมดเลย...
"เพราะฉะนั้น ยังมีอะไรอีกแยะเลยในหัวซึ่งได้ยินได้ฟังมาแล้วยังไม่ได้เอาออกไป ประจุตรงนี้คงไม่หมดน่ะ ยังเขียนได้อีกแยะ แต่ว่าจะเป็นเรื่องตลาดหรือไม่ ไม่สนใจไงครับ แต่อยากบอกว่าไฟตรงนี้คงไม่มอดหรอก
"เพราะชีวิตผม ผมไม่เคยคิดเรื่องอื่นเลย นอกจากเพลง"
"ผมเป็นคนที่เขียนเพลงเพราะใจรักจริงๆ ไม่เคยเขียนเพราะจำใจต้องเขียนเลย ผมคิดถึงเรื่องเพลงตลอดเวลา ไม่คิดถึงเรื่องอื่นเลย" |
หมายเหตุ : เวบไซต์นี้จะย้ายไปอยู่ที่ dnunet.com
และจะเปลี่ยนที่อยู่เป็น dnunet.com/songchef
ในภายหลัง
- เวบมาสเตอร์
Songchef | เขตต์อรัญ เลิศพิพัฒน์ | คิดคำ ทำเพลง | บทวิจารณ์ | คุยกับเขตต์อรัญ | คิดถึงเขตต์อรัญ |